มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก
ที่มาของเรื่อง
พุทธศาสนิกชนชาวไทยนับถือกันมาแต่ครั้งโบราณว่า มหาเวสสันดรเป็นชาดกที่สำคัญกว่าชาดกเรื่องอื่น เพราะว่าด้วยเรื่องราวที่ปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์อยู่โดยบริบูรณ์ทั้ง ๑๐ บารมีและพุทธศาสนิกชนชาวไทยก็นิยมฟังเทศน์มหาชาติกันตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อใช้เทศน์ให้ประชาชนฟัง
ลักษณะการแต่ง
มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดกสำนวนภาคกลางนิยมแต่งด้วยร่ายยาว เพราะร่ายยาวเหมาะแก่การใช้แหล่เทศน์ ผู้เทศน์จะออกเสียงได้ไพเราะและเปลี่ยนทำนองเทศน์ได้หลายอย่าง
เนื้อเรื่องย่อ
หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทำให้พระประยูรญาติละทิฐิยอมถวายบังคมก็บังเกิดฝนโบกขรพรรษพระภิกษุทั้งหลายจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า ฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต พระองค์จึงทรงแสดงธรรมเรื่อง มหาเวสสันดรชาดกหรือเรื่องมหาชาติ ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ตามลำดับ ดังนี้ กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์วนปเวสน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน กัณฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักกบรรพ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ และกัณฑ์นครกัณฑ์
กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร มี ๑๙ พระคาถา
กล่าวถึงเหตุที่จะมีเรื่องเวสสันดรชาดกขึ้นกับเล่าเรื่องพระนางผุสดีในอดีตจนถึงทูลขอพร ๑๐ ประการ จากท้าวมัฆวารผู้ภัสดาพระนางผุสดีได้รับพรทิพย์ ๑๐ ประการ ในวันจะเกิดมาเป็นมารดาของพระเวสสันดร ณ เมืองสีพีราษฎร์
กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์ มี ๑๓๔ พระคาถา
กล่าวถึงปฏิสนธิพระนาง ไปจนถึงพราหมณ์เมืองกลิงครัฐ ๘ คน มาทูลขอพญาช้างปัจจัยนาคจากพระเวสสันดรพระเวสสันดรพระราชทานให้ ทำให้ชาเมืองแค้นเคืองใจพากันเดินขบวนประท้วงทูลพระราชบิดาให้เนรเทศพระเวสสันดรไปอยู่เขาวงกตหรือประหารด้วยท่อนจันทน์
กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์ มี ๒๐๙ พระคาถา
กล่าวถึงพระราชมารดา รับอาสาไปทูลวิงวอนขอโทษพระเจ้ากรุงสัญชัยให้ทรงลดหย่อนผ่อนโทษแต่ไม่สำเร็จ จากนั้นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญมหาทาน เรียกว่า "สัตตสดกมหาทาน" แล้วทูลลาพระชนกชนนี ทรงขึ้นราชรถเวียนรอบเมือง มีพราหมณ์ ๔คนมาทูลขอม้าและราชรถพระองค์ก็เปลื้องปลดพระราชทานให้
กัณฑ์ที่ ๔ วนปเวสน์ มี ๕๗ พระคาถา
กล่าวถึงพระเวสสันดร มัทรี ชาลี กัณหา เสด็จมุ่งสู่ป่าเขาคีรีวงกต โดยอาศัยไมตรีจิตมิตรกษัตริย์ เมืองเจตราชทูลระยะทาง จนกระทั่งถึง ทั้งสี่พระองค์ทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในนั้นเป็นเวลา ๗ เดือน กษัตริย์เจตราชแต่งตั้งพรานเจตบุตรเป็นผู้อยู่คอยพิทักษ์รักษาสวัสดิภาพของพระเวสสันดร
กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก มี ๗๙ พระคาถา
กล่าวถึงเฒ่าชราตาชูชก ได้เร่ร่อนขอทาบแล้วนำเงินไปฝากเพื่อนไว้ แต่เพื่อนก็นำเงินไปใช้จนหมด เมื่อชูชกไปทวงจึงไม่มีจะให้ จึงยกนางอมิตตดาธิดาสาวให้แทน นางปฏิบัติต่อสามีดี จนเป็นเหตุให้พราหมณีเพื่อนบ้านพากันอิจฉาด่าว่าตบตี เลยไม่ยอมทำงานนอก และแนะให้เฒ่าชูชกไปทูลขอสองกุมารมาเป็นข้าทาสรับใช้
กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน มี ๓๕ พระคาถา
กล่าวถึงชูชกเดินทางไปเขาวงกต พบพรานเจตบุตร ชุชกใช้กลอุบายหลอกว่าเป็นราชทูตของพระเจ้ากรุงสัญชัย พร้อมชูกลักพริก กลักขิงเสบียงกรังที่นางอมิตตดาจัดหาให้ ว่าเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสัญชัย จนพรานเจตบุตรหลงเชื่อ จึงชี้บอกทางให้ไปจนถึงอาศรมบทของพระอัจจุตฤาษี
กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน มี ๘0 พระคาถา
กล่าวถึงชูชกเดินทางไปพบพระอัจจุตฤาษี ได้หลอกลวงพระฤาษีให้หลงกลว่าเป็นกัลยาณมิตรของพระเวสสันดร จนได้พักค้างคืนกับพระฤาษี รุ่งขึ้นพระฤาษีได้ให้กินผลไม้ และชี้ให้ชมเขาลำเนาไพรพร้อมบอกระยะทางสภาพป่า และหนทางที่จะไปสู่เขาวงกตให้แก่ชูชก ซึ่งประกอบไปด้วย เขาใหญ่ สระน้ำ และสัตว์ป่านานาชนิด
กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร มี ๑๐๑ พระคาถา
กล่าวถึงชูชกเดินทางถึงอาศรมของพระเวสสันดร ได้หยุดพักผ่อนที่คาคบไม้ ๑ ราตรี รุ่งขึ้นเมื่อนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้แล้ว ชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอพระชาลีและกัณหา ก็ทรงประทานให้ สองกุมารได้ยิน จึงตกใจกลัวหนีไปซ่อนตัวอยู่ในสระ พระเวสสันดรได้ขอร้องให้ทั้งสองพระองค์ออกมา แล้วชูชกก็นำทั้งสองพระองค์ไป
กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี มี ๙๐ พระคาถา
กล่าวถึงพระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้ แล้วเจอเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ จึงเดินทางกลับอาศรม ก็เกิดพายุใหญ่ มืดครึ้มไปทั่วบริเวณ อีกทั้งยังมีสิงห์สาราสัตว์ร้าย มาขวางทางไว้ เมื่อมาถึงอาศรมได้ทราบความ ทำให้พระองค์เสียพระทัยมาก จนสลบไป หลังจากฟื้นคืนสติกลับมา พระนางก็อนุโมทนากับพระเวสสันดรด้วย
กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ มี ๔๓ พระคาถา
กล่าวถึงพระอินทร์ เกรงว่าจะมีผู้มาขอพระนางมัทรีไปอีก จักไม่มีผู้ปรนนิบัติพรเวสสันดร พระโพธิญาณจักเป็นอันตราย จึงได้แปลงเป็นพราหมณ์ชราลงมาขอ เมื่อได้แล้วไม่เอาไป กลับถวายคืนแก่พระเวสสันดร โดยห้ามประทานนางแก่ผู้ใดอีก พร้อมทั้งประสาทพร ๘ ประการ ให้แก่พระเวสสันดร แล้วจึงเสด็จกลับสู่สวรรค์
กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช มี ๖๙ พระคาถา
กล่าวถึงชูชกได้พาสองกุมารหลงทางไปจนถึงเมืองสีพี จนกระทั่งได้พบกับพระเจ้าปู่พระเจ้าย่า จึงรับสั่งให้ไถ่ถอนตัวทั้งสองพระองค์ และพระราชทานเลี้ยงอาหารชั้นดีแก่ชูชก ชูชกไม่มีวาสนาเพราะบริโภคมากเกินไป เป็นเหตุให้ไฟธาตุพิการอาหารไม่ย่อยจนถึงแก่ความตาย พระเจ้าสญชัยรับสั่งให้เตรียมกองทัพไปรับสองพระองค์
กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์ มี ๓๖ พระคาถา
กล่าวถึงพระเจ้ากรุงสัญชัยและจตุรงคเสนา เดินทางไปถึงเขาวงกต กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ได้มาพบกันในกลางป่า โดยมิได้คาดฝัน ก็ทรงวิปโยคโศกศัลย์จนถึงวิสัญญีภาพสลบลง ฝนโบกขรพรรษบันดาลตกลงมาให้ทรงฟื้น แล้วพากันขอลุโทษและทูลอาราธนาให้ลาผนวช
กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์ มี ๔๘ พระคาถา
กล่าวถึงพระเวสสันดรเมื่อลาผนวชแล้ว ทรงสั่งลาพระอาศรม รับพระราชทานเครื่องทรงกษัตริย์ แล้วเสด็จกลับไปครองเมืองสีพี ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขจนพระชนมายุ ๑๒๐ พรรษา จึงสวรรคตแล้วไปปรากฏอุบัติเป็นท้าวสันดุสิตเทพบุตร บนสวรรค์ชั้นดุสิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น